พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระราชบุตรลำดับที่ ๔๙ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
“ราชสกุลสนิทวงศ์” เป็นหนึ่งในราชสกุลที่มีประวัติยาวนานกว่า ๒๐๐ ปี เป็นราชสกุลแพทย์ในพระองค์ที่มีการสืบทอดวิชาความรู้ภายในตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น โดยแพทย์ผู้เป็นต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระราชบุตรลำดับที่ ๔๙ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์มาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงรักษาคนไข้ จนปรากฏพระเกียรติคุณเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ในปลายรัชกาลนั้นโปรดให้ทรงกำกับกรมหมอหลวงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๔ [1]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นบุคคลสำคัญด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทรงเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย อีกทั้งทรงเรียนรู้ในวิชาการแพทย์แผนตะวันตก จึงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับประกาศนียบัตรถวายเป็นพระเกียรติยศจากสถาบันการแพทย์ของยุโรป และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ชาวต่างชาติเรียกขานพระองค์ว่า “The Prince Doctor” ซึ่งแปลว่า แพทย์ผู้เป็นเจ้าชาย [2]
ด้วยเหตุที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงชำนาญวิชาแพทย์ทั้งในและต่างประเทศจึงทรงสะสมตำราแพทย์ไว้มาก โดยทรงนิพนธ์ “ตำราสรรพคุณยา ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เล่ม ๑ และ เล่ม ๒” ซึ่งถือว่าเป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ คือมีการแจกแจงและวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด พร้อมจำแนกสรรพคุณของยาสมุนไพรตามแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ตะวันตก อีกทั้งยังทรงจารึกคำประพันธ์ไว้บนแผ่นหิน บรรยายถึงการบำบัดโรคด้วยสมุนไพร และการออกกำลังกายในท่าต่างๆ ที่เรียกว่า “ฤาษีดัดตน” ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม [3]
องค์ความรู้ทางเภสัชอย่างฝรั่ง แต่มีความเข้าใจในภูมิปัญญาในแพทย์แผนไทยนั้น เทียบเคียงกับปัจจุบันถือว่าเป็นการแพทย์บูรณาการประเภทหนึ่ง ซึ่งมีการเรียนการสอนกันในกลุ่มวิชาของ เภสัชสมุนไพร ทั้งในคณะหรือวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ หรือ แพทย์แผนไทยประยุกต์นั่นเอง นั่นก็คือมีองค์ความรู้และความเข้าใจในงานวิจัยยุคใหม่ๆ แต่สามารถนำความรู้ที่ได้นั้นมาประยุกต์กับการปรุงเป็นตำรับยาเพื่อลดผลเสียของสมุนไพรที่นำมาใช้นั้นได้โดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิม
ตัวอย่าง การบันทึกครั้งหนึ่งซึ่งเข้าใจว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงจดไว้ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๖๖ เพื่อแสดงตัวอย่างการใช้ยาควินิน (ในสมัยนั้นเป็นยาฝรั่งเรียกชื่อว่า คีนิน) ใช้รักษาโรคไข้มาเลเรีย โดยมีการนำมาประยุกต์กับวิธีการรักษาและตำรับยาแพทย์แผนไทย โดยอาศัยจังหวะการรักษาที่มีความละเอียดถี่ถ้วนเพียงใด ดังนี้
“วิธีรักษายาไทยนั้น เมื่อแรกจับเทพจร (เทพจรในปัจจุบันเรียกว่าชีพจร) ยังกำเริบอยู่ กำลังตัวยังไม่อ่อนลง ถ้าเป็นดังนี้อย่าเพ่อกินยาให้ตัดไข้ขาดทีเดียวก่อนเลย ด้วยว่าไข้มักเปนอีก เถิงยาจะมีฤทธิมากตัดขาดเร็วได้ ในเจ็ดวันเก้าวันสิบวันยี่สิบวันไข้นั้นมักมาจับอีก เปนไปดังนี้เพราะไม่ได้ถ่ายให้เทพจรอ่อนลงก่อนกินยาตัดให้ขาดนั้น
ผู้ใดเปนโรคไข้สั่นก็ให้ถ่ายด้วยดีเกลือไทยก็ได้ ใส่ปนกับดีเกลือสักหน่อยหนึ่ง ก็ให้รากออกสามหนสี่หน ถ่ายให้ลงห้าหนหกหน ให้อดของแสลงมีเนื้อสัตว์ น้ำมัน เข้าเหนียว กะปิ สุรา เปนต้น ให้รักษาดังนี้สักสองวันสามวันก่อน
ภายหลังจึงให้กินยาเทศชื่อคีนิน ที่ไทยเรียกว่ายาขาว เอาคีนินนั้นหุนหนึ่งแบ่งเปนหกส่วน เมื่อไข้ส่างออกแล้วให้กินส่วนหนึ่ง แลในสองชั่วโมงกินทีหนึ่งๆ กินทุกทีจนถึงเพลานอนหลับกลางคืน แลเมื่อตื่นขึ้นแต่เช้ากินเหมือนดังว่ามาแล้ว จนถึงเพลาที่เคยจับ ถ้าไข้มาจับอีกก็ให้หยุดยาคีนินนั้นจนกว่าไข้จะส่างออกอีก แล้วก็รับคีนินกินอีกเหมือนหนหลัง รักษาดังนี้ไข้คงหายขาดทีเดียว ไม่ใคร่จะกลับมาจับอีก
คีนินนั้นบัดนี้มีขายที่ตึกหันแตรสักห้าสิบขวด เขาว่าถ้าผู้ใดซื้อทั้งหมดจะขายเป็นขวดละสิบเหรียญ ถ้าซื้อขวดเดียว จะขายเปนสิบห้าเหรียญ คีนินในขวดเดียวน้ำหนัก ๒ บาท แบ่งเปน ๔๘๐ มื้อ พอรักษาคนไข้สั่นให้หายประมาณได้ ๔๐ คน ดังนี้มิถูกหนักแล้วฤา ๚ [1]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ทางสายพระโลหิตแก่พระโอรสพระนามว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์”ทรงสามารถร่ำเรียนวิชาการแพทย์ของราชสกุลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งพระบิดาทรงฝึกสอนสรรพวิชาและฝึกหัดวิชาแพทย์ประทานเอง
จนกระทั่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์” เข้ารับราชการในหน้าที่แพทย์ในกรมทหารมหาดเล็กซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในสมัยนั้น และเป็นอธิบดีกรมหมอหลวง อีกทั้งยังทรงเป็นแพทย์ในพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเรียก “หมอสาย” อยู่ตลอดพระชนมายุ
ทั้งนี้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ทำหน้าที่เป็นแพทย์ในกรมทหารมหาดเล็ก เป็นอธิบดีกรมหมอหลวง พร้อมกับเป็นแพทย์ในพระองค์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการจัดสร้างโรงพยาบาลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่รู้จักกันดีในนาม “โรงพยาบาลศิริราช” ซึ่งเปิดให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยใช้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๑
ซึ่งในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ แม้การแพทย์แผนปัจจุบันจะเข้ามามีบทบาทในการรักษาพยาบาลมากขึ้นเป็นลำดับ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทยอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากขณะทรงประชวรก่อนสวรรคต ทรงให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ถวายการรักษา ดังความที่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ บันทึกไว้ว่า
“พวกหมอฝรั่งประชุมกันเขียนรายงานพระอาการยื่นต่อเจ้านายเสนาบดีว่า พระอาการมากเหลือกำลังของหมอที่จะถวายการรักษาแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาแต่เช้าได้ทอดพระเนตรรายงานอากาสที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่า ควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย
ข้าพเจ้าจึงให้นายฉันหุ้มแพร (ทิตย์ ณ สงขลา) รีบเอารถยนต์ไปรับมาทันทีฯ พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน้ำพระเนตรไหลแต่ไม่ตรัสว่าอะไรฯ พระองค์เจ้าสายฯกลับลงมายืนยันว่าพระอาการยังไม่เป็นไร เชื่อว่าที่บรรทมหลับเชื่อมซึมอยู่นั้นเป็นด้วยฤทธิ์พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้วก็คงจะทรงสบายขึ้น เพราะพระชีพจรยังเต้นเป็นปกติดีฯ
พระองค์เจ้าสายฯกลับไปนำพระโอสถมาตั้งถวาายแก้ทางพระศอแห้งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตรัสทักว่า “หมอมาหรือ” ได้เท่านั้นแล้วก็ไม่รับสั่งอะไรอีกต่อไป” [4]
พระวรวงศ์เฑอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เอาพระทัยใส่ในเรื่องการเสาะแสวงหาตำรายาดีอยู่เสมอ ทั้งยาไทยและฝรั่ง กระทั่งได้เขียนตำราไว้เล่มหนึ่งลงสมุดเป็นตัวรง ชื่อว่า “ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์” บืมโรคอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙ ซึ่งทรงคัดลือกมาเป็นอย่างดี ประกอบด้วยตำรับยา ๒๔ ตำรับ มียาฝรั่งและตัวยาสมุนไพรจำนวนทั้งสิ้น ๒๔๙ ชนิด รวมถึงทรงคิดวิธีการแช่ยาด้วยแอลกอฮอล์เขียนไว้ในตำรานี้ด้วยเช่นเดียวกัน
ในตำราพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ ต้นฉบับปีมะโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ระบุสรรพคุณของแต่ละตำรับครอบคลุมหลายอาการที่เป็น รวมทั้งได้ระบุให้ใช้แต่ละตำรับยาร่วมกับน้ำกระสายด้วย เพื่อช่วยเสริมฤทธิ์ยาและรักษาตรงตามอาการที่เป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้วยคุณค่าในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของ “ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์”นี้ จึงได้นำมาตีพิมพ์ซ้ำเมื่อปี พ.ศ ๒๔๕๙ สำหรับแจกในปลงศพมหาอำมาตย์ตรี พระยาวิสูตรสาครดิฐ (เทียน ประทีปะเสน) ท.จ, ม. ม, ร. จ. พ. อธิบดีกรมเจ้าท่า ซึ่งเหลืออยู่ ๒๐ ตำรับ กระทั่งได้ประกาศเป็นตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ และได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒
ทั้งนี้ในตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ พบว่ามีตำรับยาที่เข้ากันชาทั้งส้ิน ๓ ขนาน คือตำรับยาขนานที่ ๕ ชื่อ วาตาประสิทธิ, ขนานที่ ๘ แก้เหนื่อยหอบเพราะเสมหะมากและทำให้เจริญอาหาร, และขนานที่ ๑๒ คือน้ำกระสายในตำรับยาวิสัมพยาใหญ่ ดังนี้
“ยาที่ ๕ ชื่อวาตาประสิทธิ ชื่อโทสันฆาฏก็ชื่อ ให้เอาสค้านบาท ๑ ดีปลีบาท ๑ ขิงแห้งบาท ๑ โกฎสอบาท ๑ ชเอมเทศบาท ๑ หญ้าตีนนกบาท ๑ กันชาบาท ๑ หัวอุตพิศบาท ๑ หัวดองดึงบาท ๑ ยาดำ ๓ บาท มหาหิงคุ์ ๓ บาท แก่นแสมทเล ๓ บาท โกฏน้ำเต้า ๓ บาท โกฏพุงปลา ๓ บาท ผักแผ้วแดง ๓ บาท หว้านน้ำ ๓ บาท เดิมเอาสิ่งละเสมอภาค พริกไทยหนักเท่ายา ๑๖ สิ่งใหม่นี้ให้เอาพริกไทยหนักเท่ายา ๑๖ สิ่ง
ยาที่ ๕ ชื่อวาตาประสิทธิ คือยาเข้าผักแผ้วแดง แก้บิด น้ำกระสาย ลูกจันทน์ต้มก็ได้ น้ำปูนใสก็ได้ กระทือต้มก็ได้ แก้กล่อน แก้อัมพาต น้ำสารส้มหนักสองไพเปนน้ำกระสาย แก้ลงท้องที่ไม่ปวดมวน สีอุจจาระขาวแลแก้ลงท้องเปนริดสีดวง แก้ท้องขึ้น
ถ้าแช่ออลกอฮอกินไม่เดิน ถ้าจะให้เดินบดยาผงกินกับน้ำร้อนฯ ถ้าเปนบิดตกเปนมูกเลือด ให้เอาน้ำปูนใสต้มกับลูกจันทน์เทศเปนกระสาย ถ้าบิดปวดมวนมากกินเข้ามิได้ ให้เอาน้ำมะนาวกับเกลือเปนกระสายกินเข้าได้ฯ
แก้ปัตฆาฏและกล่อนแห้งให้เจ็บเสียดเปนพรรดึก และให้บังเกิดเลือดบังเกิดลมเปนก้อนในนาภี เจ็บปวดทั่วสารพางค์ แลให้เจ็บสเอวมือตายเท้าตาย ให้เมื่อยขบขัดสะโพก ขัดหัวเหน่า แลให้ท้องตึงหลังตึง แลตึงเกลียวข้างทั้งสอง แลตึงทวารเบาๆ ออกมาเปนเลือด แลให้เจ็บศีศะวิงเวียนน้ำตาไหล ชักปากเบี้ยว เสียงแหบ ให้ตามือดหูตึงยอกเสียดสัดสีข้าง และให้ท้องขึ้นกินอาหารไม่มีรศ ๚
ยาที่ ๘ ให้เอา โกฏเชียง ๑ เทียนขาว ๑ ผิวผลมะตูมแก่ ๑ ลูกผักชี ๑ ลูกผักของ ๑ กานพลู ๑ ดีปลี ๑ รากมะแว้งต้น ๑ รากจิงจ้อแดง ๑ รากขัดมอนเล็ก ๑ รากแตงหนู ๑ ขิงแห้ง ๑ หัวแห้วหมู ๑ หัวเปราะขาว ๑ กะเทียมสุก ๑ หัวหอม ๑ เถาบรเพ็ด ๑ เถามวกแดง ๑ มหาหิงคุ์ ๑ กันชา ๑ ต้นส้มเช้า ๑ ตรีผลา ๑ เข้ากันเปนยา ๒๒ สิ่ง
ยาที่ ๘ แก้เหนื่อยหอบเพราะเสมหะฯ แก้เสมหะในคอให้แน่นหน้าอก กินเข้าไปให้เสมหะออกมาฯ แก้หืดหอบด้วยเสมหะ ถ้าโรคซึ่งเปนที่กล่าวมาทั้งนี้ กินยาที่ ๘ นี้เข้าไปแล้วให้ร้อนเหงื่อออก กินอาหารได้ แล ๚
ยาที่ ๑๒ ชื่อวิสัมพยาใหญ่ ให้เอาขิงแห้ง ๑ สมอเทศ ๑ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ลูกเอน ๑ ใบพิมเสน ๑ ลูกผักขี ๑ น้ำประสานทอง ๑ โกฏทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ การบูร ๑ เปลือกสมุลแว้ง ๑ รากไครเครือ ๑ อบเชย ๑ จันทน์ขาว ๑ ดีปลีหนักเท่ายา ๒๕ สิ่งนี้
ยาที่ ๑๒ ชื่อวิสัมพยาใหญ่ แก้ลงท้องแน่น, จุก, เสียด ก็ได้ ให้เอาน้ำส้มส้า น้ำขิงสด น้ำดอกไม้ เป็นกระสายก็ได้ แก้พยาด แก้ริดสีดวง แก้ไอ แก้สอึก น้ำขิงต้มเปนกระสาย แก้นอนไม่หลับ น้ำกันชาต้มเปนกระสาย แก้หาว แก้เรอ แก้สันนิบาตสิบจำพวก น้ำร้อนเปนกระสายแทรกพิมเสน ๚
แม้ว่าตำรับที่เข้ากันชาที่ปรากฏในตำราพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์จะมีเพียง ๓ ตำรับ หากแต่ว่าคุณค่าของยาตำรับเหล่านี้ มีความลึกซึ้งในภูมิปัญญาความรู้ และให้ความสำคัญในการอธิบายการใช้น้ำกระสาย (หรือตัวช่วยในการทำละลายสารสำคัญของสมุนไพร) เพื่อให้ออกฤทธิ์ของยาที่แตกต่างกัน เช่น น้ำต้ม แอลกอฮอล น้ำปูนใส ฯลฯ ซึ่งนับเป็นตำราอีกเล่มหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกเล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่ายิ่ง
ด้วยความปรารถนาดี ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง :
[1] กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก, กลุ่มงานวิชาการและคลังความรู้ กองวิชาการและแผนงาน, คำอธิบายตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ ๒ บืมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙ - นนทบุรี : กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก, 2561, 328 หน้า ISBN 978-616-11-3612-3 [2] กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก, กลุ่มงานวิชาการและคลังความรู้ กองวิชาการและแผนงาน, คำอธิบายตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ บืมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙.-นนทบุรี :กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก,2561. 216 หน้า ISBN 978-616-11-3599-7 [3] ขวัญข้าว. พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท [ออนไลน์], ๒๕๕๔ (๕ มกราคม ๒๕๖๑) ที่มา; http://nongkwankaw.blogspot.com/2011/01/blog-post.html [4] เวียงวัง. ตอนที่ ๘๖ เจ้าสาย. [ออนไลน์]. ๒๕๕๖ [๕ มกราคม ๒๕๖๑]; ที่มา: https://writer.dek-d.com/brid711/story/viewlongc.php?d=524172&chapter=86 URL 3,479