บันทึกเส้นทางปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ (ตอนที่ 1)

รูปแสดงโฆษณา ยาขาว

ฟ้าทะลายโจร

ยาลม 300 จำพวก

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 

ภายหลังจากมีข่าวคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกรายงานผลวิจัยสารสกัด THC

 

ภายหลังจากมีข่าวคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกรายงานผลวิจัยสารสกัด THC ในกัญชาว่ามีผลอย่างไรต่อเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยมะเร็งรายหนึ่งในหลอดทดลอง ผลปรากฏว่าเซลล์มะเร็งนั้นฝ่อตายลง ก็ได้สร้างความหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากว่าจะเป็นหนทางในการรักษาโรคมะเร็งได้อีกทางเลือกหนึ่ง

และในปีนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็จะมีการทดลองในหนูทดลองครั้งแรกเพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ขอรับกัญชาจาก พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการปราบปราบปรามยาเสพติด เพื่อมาวิจัย ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตรับมอบกัญชาคุณภาพดีที่ได้จากการจับกุมจำนวน 40 กิโลกรัมให้มาวิจัยโดยเฉพาะ

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมามีทั้งผู้ป่วย และญาติพี่น้องของผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมาก ได้เข้ามาหาที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างไม่ขาดสาย และมีความหวังว่าจะได้รับส่วนแบ่งกัญชาดังกล่าวหรือมีช่องทางที่มารักษาชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง แต่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ไม่สามารถหากัญชามาให้ผู้ป่วยเช่นนั้นได้ เพราะกัญชาที่ได้รับมาถูกดูแลควบคุมอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่เพื่อการวิจัยในหนูทดลองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะกัญชาอยู่ในบัญชียาเสพติดตามกฎหมาย

เมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2560 ในการประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการแจ้งความคืบหน้าให้ในการดำเนินการทำเรื่องขอครอบครองกัญชาต่อไปให้ทันเวลาเพื่อรอการวิจัย ก่อนที่จะหมดระยะเวลาการครอบครอง หากทำเรื่องไม่ทันกัญชาเหล่านั้นก็จะต้องส่งมอบคืนเพื่อเผาทำลายต่อไป ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเห็นว่าควรขยายผู้เข้าร่วมในกรรมการการวิจัยและพัฒนาเรื่องกัญชาให้มากขึ้น เพื่อเร่งรัดเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและมนุษยชาติที่รอความหวังอยู่เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามที่ประชุมต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนและมีอุปสรรคทางกฎหมายอยู่มาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี จึงเห็นว่าอาจจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เพื่อหาทางปลดล็อกให้กัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเพื่อใช้วิจัยและรักษาในทางการแพทย์ได้

วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2560 มีญาติ 5 คน ของผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่สี่ มาขอความช่วยเหลือด้วยความหวังเดียว จาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เพราะหมอระบุว่าจะมีชีวิตได้อีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ ดร.อาทิตย์ก็ไม่สามารถหากัญชาให้ผู้ป่วยได้ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจว่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีกัญชาที่จะทดลองวิจัยที่อาจทำให้รู้ผลการทดลองในหนูได้ แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายกัญชาเหล่านี้กลับไม่สามารถมีไว้ให้ความหวังกับชีวิตคนป่วยที่มีเวลาเหลืออยู่อีกไม่นานได้

และกว่าจะรอกฎหมายให้ผ่านได้ ก็คงมีคนเสียโอกาสในการที่จะได้ทดลองใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง หรือแอบใช้กันอย่างไม่ถูกต้อง หรือแอบใช้กันโดยที่หมอไม่เข้าใจในเงื่อนไขการรักษาระหว่างการใช้กัญชา ดังนั้นคงจะมีผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตอีกมาก หากจะรอผลการวิจัยเพียงอย่างเดียว หรือรอกฎหมายที่เป็นไปอย่างล่าช้ามากเช่นนี้

ด้วยเหตุผลที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งไม่มีเวลาที่จะรอคอยกฎหมายที่ล่าช้าเช่นนั้นได้ ทางออกเพื่อ”มนุษยธรรม”คือต้องช่วยเร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดและให้สามารถนำมาใช้ในการวิจัยและรักษาในมนุษย์ได้ให้เร็วที่สุด ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี จึงได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาและพัฒนาการวิจัยพืชเสพติดขึ้น โดยมุ่งหวังว่าจะรวมพลังเร่งผลักดันเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2560 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธาน ได้จัดประชุมอย่างเร่งด่วน และได้รับความร่วมมือจากข้าราชการกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้แล้ว ยังจะร่วมมือกันผลักดันเรื่องดังกล่าวต่อไปอีกด้วย ทั้งนี้ข้อสรุปในเบื้องต้นจากการประชุมมหาวิทยาลัยรังสิต และกรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2560 คือ

1. มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดทำข้อเสนอให้มีการอนุญาตนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ทั้งในรูปแบบเป็นตำรับยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก การแพทย์แบบบูรณาการผสมผสาน โดยมุ่งเน้นต่อประโยชน์และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านการดูแลสุขภาพ

2. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแลการใช้กัญชาทางการแพทย์ กับคนไข้ทั้งในการให้บริการดูแลรักษาและการศึกษาวิจัยในมนุษย์ โดยร่วมกับเครือข่ายหน่วยบริการทั่วประเทศ

3. มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นหน่วยงานหลักในการประสานให้เกิดเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ

ที่ประชุมยังได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติม และอนุกรรมการชุดต่างๆเพิ่มเติม และมอบหมายให้ อ.คมสัน โพธิ์คง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้ยกร่างกฎหมายต่างๆเพื่อปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ เพื่อเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลโดยเร่งด่วน ทั้งนี้จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560

ในวันนี้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค ความว่า

“การปลดล้อคกัญชา เพื่อการศึกษา วิจัย และรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะเป็นปรากฏการณ์ และคุณูปการณ์ ที่ยิ่งใหญ่ต่อมนุษยชาติ และเกิดคุณค่าและประโยชน์มหาศาลต่อประชาชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หากเรามีวิสัยทัศน์ กล้าหาญและเป็นผู้นำที่จะสร้างนวัตกรรมนี้ได้ โดยไม่หงอยอมอยู่ในอาณัติของใคร”

จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันแสดงความเห็นและเข้าร่วมสนับสนุนภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ให้สำเร็จเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยที่รอความหวังอยู่

บันทึกโดย

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

กรรมการ และประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการพิจารณาศึกษาและพัฒนาการวิจัยพืชเสพติด มหาวิทยาลัยรังสิต วันที่ 22 ตุลาคม 2560

ติดตามความคืบหน้าได้ที่ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1599094103483886&id=123613731031938